งัดที่ดินรัฐเข็นเข้าโครงการพีพีพีแสนล้าน! ทิ้งทวนตามเมกะโปรเจ็กต์ หารายได้ … ร.ฟ.ท. ดัน 3 แปลง “มักกะสัน-กม.11-แม่น้ำ” ตามติดสถานีกลางบางซื่อ ขณะท่าเรือลุย 4 แปลง ขึ้นออฟฟิศ-คอมเพล็กซ์ … “อธิบดีธนารักษ์” ย้ำ! ที่หมอชิตเซ็นสัญญาปีนี้ … ‘ยาสูบ’ ไม่น้อยหน้า ได้ขุมทรัพย์ที่ราชพัสดุเพียบ

นอกจากรัฐบาลจะทิ้งทวนโครงการเมกะโปรเจ็กต์มูลค่าล้านล้านบาท ก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งแล้ว ที่ดินแปลงใหญ่รัฐยังเป็นเป้าสำคัญที่เร่งประมูลหารายได้

 

วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

 

รถไฟดันที่ 3 แปลงเข้าพีพีพี
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่ดินแปลงเอ สถานีกลางบางซื่อ ผ่านคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ล่าสุด ยังเร่งรัดที่ดิน 3 แปลงศักยภาพ เข้าโครงการพีพีพี ตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ 1.แปลงสถานีแม่น้ำ 2.กม.11 และ 3.โรงงานมักกะสัน มูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท หลังผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่ ที่มี นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธาน

ไล่ขึ้นค่าเช่าสะท้อนราคาจริง
สำหรับที่ดิน ร.ฟ.ท. ใช้ในกิจการเดินรถ 2.3 แสนไร่ ขณะที่ดินหารายได้เชิงพาณิชย์ประมาณ 4 หมื่นไร่ทั่วประเทศ และอยู่ระหว่างปรับสัญญาประเมินค่าเช่าใหม่ เช่น โรงแรมอีสติน ย่านมักกะสัน , โรงแรมทวินทาวเวอร์ ย่านยศเส โดยมอบให้บริษัทเอกชนประเมินมูลค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง สะท้อนราคาประเมินปัจจุบัน ก่อนต่อสัญญา เหมือนเซ็นทรัลลาดพร้าว เช่นเดียวกับที่ดินหัวหินอยู่ระหว่างเจรจา สำหรับทำเลรัชดาภิเษกส่วนใหญ่เป็นทางเชื่อมเข้าโรงแรมที่อยู่ระหว่างแจ้งผู้ประกอบการเพื่อปรับค่าเช่าเช่นกัน

ที่หมอชิตเซ็นสัญญาปลายปีนี้
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุถึงความคืบหน้าที่ดินหมอชิต ว่า คาดว่าจะเข้า ครม. สัปดาห์หน้า จากนั้นจะเซ็นสัญญากับคู่สัญญาเดิม คือ บางกอกเทอร์มินอล ตามเงื่อนไขพัฒนารูปแบบมิกซ์ยูส มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และยังจัดพื้นที่สำหรับโครงการจอดแล้วจร ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ถือว่าเป็นทำเลที่ดีของการทำการค้า และเป็นศูนย์กลางในการเดินทาง มีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และ บขส. สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แล้วขึ้นรถโดยสารออกไปยังจุดหมายได้สะดวก สำหรับผลตอบทยที่กรมธนารักษ์ได้รับจากการให้เช่าที่ราชพัสดุ 30 ปี มีมูลค่า 3 พันล้านบาท ถือว่าคุ้มค่า เพราะผลตอบแทนของโครงการนี้แบ่งได้ 2 ส่วน ส่วนที่เป็นทรัพย์สิน เป็นอาคารที่สร้าง ชดเชยมูลค่าประมาณ 2.4 พันล้านบาท ซึ่งทางบริษัท บางกอกเทอร์มินอลฯ จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคารส่วนที่ต่อจากศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าต่อขึ้นไป เพื่อให้ชั้น 3 และ 4 มีขนาดเนื้อที่ 1.2 แสนตารางเมตร ทำเป็นสถานีกลางของหมอชิตที่ย้ายกลับเข้ามา

นอกจากนี้ ยังมีเงินสดที่เป็นค่าเช่าที่กรมธนารักษ์จะได้อีก 600 ล้านบาท ในช่วง 30 ปี เมื่อรวมทั้ง 2 โครงการ ทำให้รัฐได้ประโยชน์จากโครงการหมอชิต ประมาณ 3 พันล้านบาท เช่นเดียวกับศูนย์ฯสิริกิติ์ รออัยการตรวจร่างสัญญาร่วมทุน และอีกแปลง คือ ร้อยชักสาม ที่คาดว่าทั้ง 3 แปลง จะเซ็นสัญญาภายในปีนี้

ปั้นที่เขต ศก.ชายแดน
นายพชร กล่าวต่อว่า การพัฒนาที่ดินของธนารักษ์นับจากนี้ จะเน้นสวัสดิการของรัฐมากกว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอกฎหมายให้ผ่าน สนช. หากผ่านจะทำให้ธนารักษ์ไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยจะเป็นรูปแบบพีพีพีของธนารักษ์เอง สามารถคัดเอกชนเข้าร่วมโครงการได้ เช่น สร้างบ้านคนไทย บ้านผู้สูงอายุ ส่วนเชิงพาณิชย์จะมุ่งไปที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.นครพนม, มุกดาหาร และหนองคาย หลังเปิดประมูลพื้นที่ จ.ตาก, ตราด และสระแก้วไปแล้ว ส่วน จ.นราธิวาส อยู่ระหว่างรอที่ดิน

©OpenClipart-Vectors

 

ยาสูบจ่อพลิกที่ร้างเป็นพาณิชย์
ขณะที่ นายคณุตม์ ฤทธิสอน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ (สร.ยาสูบ) กล่าวว่า ที่ดินที่ราชพัสดุอยู่ในความครอบครองของยาสูบ 182 แปลง หลังโรงงานยาสูบตั้งนิติบุคคลเป็นการยาสูบ กรมธนารักษ์ได้โอนที่ดินที่ราชพัสดุที่อยู่ระหว่างใช้งานเป็นกรรมสิทธิ์ของการยาสูบ จำนวน 112 แปลง ที่ใช้ปลูกต้นยาสูบและที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์อีก 32 แปลง โดยนายคณุตม์ ระบุว่า สำหรับที่รกร้าง ต้องเร่งนำออกหารายได้ หรือ ทำประโยชน์ภายใน 3 ปี หากเพิกเฉย กรมธนารักษ์ใช้สิทธิ์เรียกคืนตามกฎหมาย ส่วนที่ดินอีก 38 แปลง ได้ส่งคืนธนารักษ์ สำหรับที่ดินโรงงานยาสูบ ราคาทุนจำนวน 599.05 ล้านบาท เป็นที่ดินในกรุงเทพมหานคร 667 ไร่ ที่ดินใน จ.พระนครศรีอยุธยา 242 ไร่ และในส่วนภูมิภาค 6,335 ไร่ รวมเป็น 7,244 ไร่

ท่าเรือนำที่ 4 แปลง หารายได้
แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า เตรียมนำที่ดิน 4 แปลง ออกหารายได้ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ขนาด 17 ไร่ (อยู่ด้านข้างอาคารสำนักงานใหญ่ กทท.) แนวคิดจะพัฒนาเป็น Maritime Center (ออฟฟิศบิลดิ้ง) 2.พื้นที่ 54 ไร่ บริเวณอาคารทวิช-โรงพยาบาลการท่าเรือฯ ฝั่งตรงข้ามกรมศุลกากร แนวคิดพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ 3.พื้นที่ 137 ไร่ บริเวณอู่รถเมล์ ขสมก.-ตลาดคลองเตย เลียบถนนสุนทร โกษา แนวคิดพัฒนาเป็นบิสสิเนสปาร์กย่านธุรกิจครบวงจร ชุมชนที่อยู่อาศัยใหม่ 4.พื้นที่ 15 ไร่ บริเวณคลังสินค้าผ่านแดนติดทางด่วน แนวคิดพัฒนาเป็นออฟฟิศบิลดิ้ง

เอกชนหนุนรัฐเร่งพัฒนา
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดิร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนส์ จำกัด ระบุว่า เห็นด้วยที่เร่งนำที่ดินแปลงใหญ่หลายแปลงหารายได้ เพราะมีปัจจัยเอื้อทั้งรถไฟฟ้าและผังเมือง มองว่าเป็นเรื่องที่ดี

ขอบคุณข้อมูลจาก Thansettakij


บทความอื่นๆ

อ่านเพิ่มเติม