หลายคนที่เพิ่งซื้อบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง อาจสงสัยว่าสามารถย้ายทะเบียนบ้านปลายทางได้ไหม ต้องกลับไปเดินเรื่องที่ภูมิลำเนาเดิมหรือไม่ ต้องเตรียมเอกสารอะไร ติดต่อหน่วยงานไหน และมีขั้นตอนอะไรบ้าง คำถามมากมายเหล่านี้เรามีคำตอบให้คุณหมดแล้ว ติดตามรายละเอียดได้ข้างล่างนี้เลย
ย้ายทะเบียนบ้านปลายทางได้ไหม มีประโยชน์ยังไง และต่างจากย้ายทะเบียนบ้านปกติตรงไหน?
การย้ายทะเบียนบ้านปลายทางนั้นสามารถทำได้ และเป็นวิธีที่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ได้รับความสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากไม่ต้องกลับไปเดินเรื่องที่ภูมิลำเนาเดิมให้เสียเวลา และยังทำการแจ้งย้ายออกจากที่เดิมและแจ้งย้ายเข้าพร้อมๆ กันในคราวเดียว
นอกจากนี้ การย้ายทะเบียนบ้านปลายทางยังมีประโยชน์มากในกรณีที่คุณเป็นเจ้าบ้าน เพราะเมื่อเจ้าบ้านย้ายชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านหลังใหม่ครบ 1 ปี หากเกิดการซื้อขายบ้าน จะได้รับยกเว้นค่าภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% ของราคาขายหรือราคาประเมิน แล้วแต่ราคาใดจะถูกประเมินสูงกว่า
ทั้งนี้ การแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางมีเงื่อนไขตรงที่ หากบ้านเดิมและบ้านใหม่ของคุณอยู่ในเขตหรืออำเภอเดียวกันจะแจ้งปลายทางทีเดียวไม่ได้ ต้องแจ้งย้ายออกจากบ้านเดิมก่อนแล้วค่อยแจ้งย้ายเข้าที่บ้านใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ การแจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทางสามารถแจ้งรายชื่อคนที่ย้ายได้ครั้งละไม่เกิน 3 คนเท่านั้น
ความแตกต่างระหว่างการย้ายทะเบียนบ้านปลายทางกับการย้ายเข้าหรือย้ายออกทั่วไปคือ ปกติแล้วการแจ้งย้ายเข้า-ออกจะเกิดขึ้นเมื่อตอนที่เจ้าบ้านมีลูก มีคนในบ้านเสียชีวิต หรือมีคนในบ้านย้ายเข้า-ออก เป็นต้น แต่การย้ายทะเบียนบ้านปลายทางมักเกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อบ้านแล้วเราต้องการย้ายเข้าบ้านหลังนั้น หรือย้ายเพราะต้องการเปลี่ยนที่อยู่ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่า บุคคลหนึ่งสามารถมีชื่อในทะเบียนบ้านได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ไม่ว่าในฐานะเจ้าบ้านหรือผู้อยู่อาศัยก็ตาม เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนในการใช้สิทธิ์ต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น เลือกตั้ง ขออนุมัติเงินกู้ เป็นต้น
ย้ายทะเบียนบ้านเข้า-ออก ภายในกี่วัน แจ้งที่ไหน?
ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเข้า-ออก หรือย้ายปลายทาง เจ้าบ้านจะต้องแจ้งย้ายไปยังที่ว่าการอำเภอ หรือ สำนักงานเขตของพื้นที่ที่จะย้ายภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ย้ายเข้าหรือย้ายออก ถ้าหากพ้นกำหนดเวลาแล้ว ตามกฎหมายให้กำหนดค่าธรรมเนียมในการปรับดังต่อไปนี้
- การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไม่เกินหกเดือน คิดค่าธรรมเนียม ครั้งละ 30 บาท
- การแจ้งหรือพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเกินหกเดือนแต่ไม่เกินหนึ่งปี คิดค่าธรรมเนียม ครั้งละ 50 บาท
- การแจ้งหรือขอที่พ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายเกินหนึ่งปี คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก (2) แล้วต้องไม่เกิน 500 บาท เศษของเดือนถ้าเกินสิบห้าวันให้นับเป็นหนึ่งเดือน
ดังนั้น เมื่อคุณย้ายเข้าบ้านใหม่แล้ว ควรรีบไปดำเนินการให้เรียบร้อยภายในเวลาที่กำหนด จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับที่ว่ามา

เอกสารที่ต้องใช้ในการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ใช้อะไรบ้าง
เอกสารสำหรับการย้ายทะเบียนบ้านปลายทางมีดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน พร้อมสำเนา 1 ชุด
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้าน พร้อมสำเนา 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านหลังใหม่ (ฉบับเจ้าบ้าน)
กรณีมอบอำนาจให้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง ไม่มีเจ้าบ้าน
ผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินขั้นตอนโอนเข้าทะเบียนบ้านปลายทางกับเจ้าหน้าที่ทะเบียนบ้านในภูมิลำเนาใหม่ได้โดยใช้เอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
- หนังสือมอบอำนาจของเจ้าบ้าน (สำหรับผู้รับมอบอำนาจ)
- ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ปลายทาง ฉบับ ท.ร. 6 ตอนที่ 1 และ 2 โดยเจ้าบ้านต้องเซ็นยินยอมลงนามก่อนให้เจ้าหน้าที่ตรวจ
กรณีผู้เยาว์ย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
สำหรับผู้เยาว์ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ สามารถทำเรื่องย้ายทะเบียนบ้านปลายทางไปอยู่ที่ภูมิลำเนาใหม่ได้ แต่จะต้องนำบิดาหรือมารดามาดำเนินการเพื่อมอบอำนาจ ดังนี้
- ใบสูติบัตรของบุตรฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดาหรือมารดาฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
- ใบทะเบียนสมรส, ใบทะเบียนการรับรองบุตร หรือใบทะเบียนการหย่าที่ระบุเป็น บิดา หรือมารดา คือผู้มีอำนาจปกครองบุตรฉบับจริง พร้อมสำเนา 1 ชุด
- เจ้าบ้านหลังที่จะแจ้งย้ายเข้า มาให้ความยินยอมให้ย้ายเข้า พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง และฉบับสำเนา 1 ชุด
ขั้นตอนในการย้ายทะเบียนบ้านปลายทาง
เมื่อเตรียมเอกสารทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว คุณก็สามารถทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
- ยื่นหลักฐานต่อนายทะเบียนท้องที่ที่จะย้ายเข้า
- นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานและลงรายการในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ จากนั้นให้คุณเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด
- ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 10 นาทีก็เสร็จเรียบร้อย
เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ทะเบียนบ้านเล่มใหม่ที่มีรายชื่อของคุณอยู่ในนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขเพิ่มเติมในเรื่องของการได้สิทธิ์เป็นเจ้าบ้านดังต่อไปนี้
- การย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่บ้านที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ โดยยังไม่มีเจ้าบ้าน ผู้แจ้งย้ายจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินอย่างถูกต้องทันที ดังนั้นถ้าคุณเป็นเจ้าของบ้านตัวจริงก็ควรมาแจ้งย้ายด้วยตนเองจะดีกว่า เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
- การย้ายทะเบียนบ้านโดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตั้งแต่แรก จะถือว่าย้ายเข้ามาเป็นเพียงผู้อาศัยเท่านั้น
ถ้าหากคุณต้องการความรวดเร็วเพิ่มเติมในการดำเนินการ ไม่อยากรอคิวนาน สามารถติดต่อลงทะเบียนขอรับบริการล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน https://q-online.bora.dopa.go.th โดยสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ไม่เกิน 15 วัน และอย่างช้าสุดไม่เกิน 16.00 น. ก่อนวันเข้ารับบริการ
นึกถึงเรื่องจัดการทรัพย์อสังหาฯ Property Flow ช่วยคุณได้
จะเห็นได้ว่าการย้ายทะเบียนบ้านปลายทางไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพียงเตรียมเอกสารให้ครบก็สามารถเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ได้เลย แต่ถ้าคุณยังไม่แน่ใจก็สามารถสอบถามจากนายหน้าพันธมิตรของเราได้ และถ้าหากคุณเป็นนายหน้า โบรกเกอร์ หรือนักการตลาดที่สนใจอยากใช้งานโปรแกรมขายอสังหาฯ เพื่อเป็นตัวช่วยในการลงโฆษณาขายบ้านอย่างมีประสิทธิภาพของ Property Flow ก็สามารถติดต่อเราเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้เช่นกัน